คำสั่งยกคำร้องของศาลปกครองกลางคดีโฮปเวลล์
มหากาพย์ โฮปเวลล์ ตอน คำสั่งยกคำของดหรือทุเลาการบังคับคดี
หลังจากที่มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีโฮปเวลล์ ภาครัฐมีการตั้งคณะกรรมการหลายชุด เช่น คณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน “กรณีโฮปเวลล์” เพื่อตรวจสอบโครงการโฮปเวลล์ตั้งแต่ก่อนทำสัญญา ขณะทำสัญญา การบริหารสัญญาและการยกเลิกสัญญา การดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการและในชั้นศาลปกครองเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเสียหายของภาครัฐ ผลการตรวจสอบของคณะชุดต่างๆ ทำให้ กระทรวงและการรถไฟ ดำเนินการหลายประการ เช่น
ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียน โฮปเวลล์
ยื่น DSI ให้สอบสวนว่า การรับจดทะเบียนโฮปเวลล์ชอบด้วย กม. หรือไม่
ยื่นคำร้องต่อศาล รธน.โดยผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ขัดต่อ รธน. และ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 หรือไม่
คณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีโฮปเวลล์ นำส่งรายงานการตรวจสอบยื่นต่อ ปปช.
ในคำร้องของกระทรวง ฯ และการรถไฟให้ เหตุที่ขอให้ศาลมีคำสั่งงดหรือทุเลาการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ไว้ 2 เรื่องคือ
1. ควรรอการชี้ขาดในข้อกฎหมายข้างต้นในประเด็นต่างๆ ข้างต้นก่อน เพราะหากดำเนินการไปแล้วอาจเกิดความเสียหายกับราชการและประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะประเด็น สถานะความเป็นนิติบุคคลของโฮปเวลล์ หากโฮปเวลล์ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายตั้งแต่แรก ก็ไม่อาจเข้าทำสัญญาสัมปทาน ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ และดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆในศาลปกครองได้
2. กระทรวงและการรถไฟ ไม่มีงบประมาณปี 2564 ที่จะชำระให้กับโฮปเวลล์ เพราะพ้นการขอให้พิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ปี 2564 ไปแล้ว
ต่อมาโฮปเวลล์ก็ยื่นคำร้องชี้แจง สู้ในหลายเรื่อง สรุปใจความว่า
กระทรวง ฯ และการรถไฟ เคยเชิญโฮปเวลล์เข้าร่วมเจรจาเรื่องการชำระหนี้ โฮปเวลล์ขยายเวลาชำระหนี้ให้แล้ว แต่กระทรวงและการรถไฟไม่ชำระหนี้และไม่แจ้งเหตุขัดข้อง แสดงให้เห็นว่า การเจราจาเพื่อ ประวิง เวลา เท่านั้น
การดำเนินการต่างๆ ของกระทรวงและการรถไฟตามที่บรรยายในคำร้อง ไม่เป็นเหตุตามกฎหมายให้งดหรือทุเลาการบังคับคดี แต่เป็นการทำเพื่อหลีกเลี่ยงหรือประวิงเวลาการปฏิบัติตามคำพิพากษา
กระทรวงและการรถไฟได้ทราบความเป็นนิติบุคคลต่างด้าวของโฮปเวลล์แล้วตั้งแต่ปี 2533 และยอมรับว่า ครม. เห็นชอบตาม “รายงานผลการเจรจา” ในทุกข้อ รวมทั้งประเด็นการจัดตั้ง โฮปเวลล์และการได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับ ปว.281
หลังการทำสัญญา คู่สัญญาก็ปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องต่าง ๆ เป็นเครื่องยืนยันว่า โฮปเวลล์มีความสามารถและคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
ไม่ว่า โฮปเวลล์จัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่ทำให้กระทรวงและการรถไฟหลุดพ้นไม่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา เพราะ ปพพ. ม.1249 วางหลักไว้ว่า แม้บริษัทจะได้เลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเวลาเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ดังนั้น ถ้ามีการเพิกถอนการจัดทะเบียน โฮปเวลล์ ผู้ชำนะบัญชีโฮปเวลล์ก็มีอำนาจตามกฎหมาย ในการบังคับคดีให้การทรวงการรถไฟ ชำระหนี้ตามคำพิพากษา
การยื่นเรื่องให้ศาล รธน. วินิจฉัย เป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่สุจริตและมีเจตนาประวิงการปฏิบัติตามคำพิพากษา เนื่องจาก คำวินิจฉัยของ ศาล รธน. ไม่ผูกพันคดีนี้ซึ่งถึงที่สุดแล้ว เป็นไปตาม รธน. มาตรา 212 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว”
ประเด็นที่ศาลพิจารณา คือ “มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งงดการบังคับคดีหรือทุเลาการบังคับคดีตามคำขอของกระทรวงและการรถไฟหรือไม่ เพียงใด”
ศาลปกครองกลาง วินิจฉัยโดยแบ่งได้เป็น 2 ส่วน
1. การงดการบังคับดคี
คดีนี้นี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กระทรวงและการรถไฟปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว จึงผูกพันกระทรวงและการรถไฟ แม้กระทรวงและการรถไฟจะอ้างว่าได้ ดำเนินการต่างๆ ข้างต้น ก็ไม่เป็นเหตุที่จะให้เข้าเงือนไขในการงดการบังคับคดี ตามข้อ 131 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
2. การทุเลาการบังคับคดี
การทุเลาการบังคับคดีไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลในการทุเลาการบังคับคดี ประกอบกับคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามมาตรา 73 วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีได้
สรุป
ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งยกคำขอ ของกระทรวงและการรถไฟ ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีหรือทุเลาการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีโฮปเวลล์