share

มหากาพย์โฮปเวลล์ คดีประวัติศาสตร์งานก่อสร้าง

Last updated: 21 Jul 2023
148 Views
มหากาพย์โฮปเวลล์ คดีประวัติศาสตร์งานก่อสร้าง

คดีโฮปเวลล์
ผู้ร้องที่ 1 คือ กระทรวงคมนาคม
ผู้ร้องที่ 2 คือ การรถไฟ
ผู้คัดค้านคือ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ข้อเท็จจริง คือ เมื่อปี 2532 ผู้ร้องที่ 1 (กระทรวงฯ) ได้เสนอ ครม. เพื่อเห็นชอบโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับใน กทม. ต่อมาเมื่อ ครม. เห็นชอบ กระทรวงฯ จึงประกาศเชิญชวนผู้สนใจเสนอโครงการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟและทางรถยนต์ยกระดับโดยให้ได้รับสัมปทานดำเนินการระบบรถไฟชุมชนและสัมปทานทางรถยนต์ในเขตของทางรถไฟ นอกจากนี้ผู้รับสัมปทานจะได้รับสิทธิในการจัดหาผลประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟ(ผู้ร้องที่ 2) โดยผู้สนใจจะต้องเสนอโครงการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟและทางรถยนต์ยกระดับพร้อมอาคารสถานี เครื่องอุปกรณ์อาณัติสัญญาณ โทรคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ และสาธารณูปโภคอย่างครบถ้วน กำหนดระยะเวลาดำเนินการตามโครงการ 30 ปี ไม่นับรวมระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3-5 ปี โดยต้องเสนอโครงการต่อ กระทรวงฯ ตามเงื่อนไขที่กำหนดรวม 7 ข้อ เช่น ต้องเสนอรายละเอียดโครงการพร้อมแผนงาน ผลปประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสม ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวน 1,500 ล้านบาท ต้องชดเชยอาคารที่มีการรื้อถอน

โครงการนี้มีผู้สนใจซื้อซอง 4 รายแต่มีผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวคือ ผู้คัดค้าน (โฮปเวลล์) กระทรวงฯ รับข้อเสนอของโฮปเวลล์ เสนอ ครม. เพื่อพิจารณา และ ผู้ร้องที่ 2 (การรถไฟ) จะพิจารณาจัดสรรที่ดินจำนวนหนึ่งนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนเพื่อให้ โฮปเวลล์ก่อสร้างโรงเก็บและโรงซ่อมรถไฟชั่วคราวโดยโฮปเวลล์จะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสม กระทรวงฯ จึงได้เสนอ ครม. และ ครม. ได้รับทราบ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 กระทรวงฯ และการรถไฟ ได้ทำสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม. และประโยชน์จากที่ดินกับ โฮปเวลล์ ต่อมามีการแก้ไขสัญญา มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า การก่อสร้างส่งมอบเฉพาะระบบรถไฟ และถนนยกระดับ ส่วนโครงสร้างทาง อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่สัมปทานตกเป็นของ การรถไฟ ทันทีที่ก่อสร้าง โดยโฮปเวลล์มีสิทธิใช้ประโยชน์สิ่งปลูกสร้างตลอดอายุสัมปทาน โฮปเวลล์มีสิทธิเก็บรายได้จากระบบทางด่วนยกระดับและทางรถไฟและทรัพย์สินเชิงพาณิชย์อื่นๆ โดยโฮปเวลล์ มีหน้าที่ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการออกแบบก่อสร้าง ประกอบการ ดูแลบำรุงรักษาทั้งหมดตลอดระยะเวลาสัมปทาน และระยะเวลาสัมปทานมีกำหนด 30 ปี นับแต่วันที่สัญญาใช้บังคับ สำหรับเวลาก่อสร้างมีกำหนด 8 ปี นับแต่วันที่สัญญาใช้บังคับ

หลังจากทำสัญญาแล้ว การรถไฟ เห็นว่า โฮปเวลล์ทำงานการก่อสร้างจริงได้เพียงในระยะที่ 1 เท่านั้น ซึ่งตามแผนงานวางไว้ต้องเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 5 ตามลำดับ และมีปัญหาเกี่ยวกับจุดตัดถนน แต่ก็ยังเห็นว่าแก้ไขและทำให้เสร็จได้ตามระยะเวลาสัญญา กระทรวงฯและการรถไฟจึงรายงานต่อ ครม.  ต่อมาเดือน เม.ย.2539 การรถไฟ รายงาน ครม. ว่า ผลการดำเนินการได้ประมาณ ร้อยละ 5 ซึ่งตามแผนควรมีความก้าวหน้า ร้อยละ 67 การก่อสร้างจึงอยู่ในเกณฑ์ล่าช้ามาก กระทรวงฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัด ติดตาม ควบคุมดำเนินงานตามสัมปทาน เพื่อติตตามความก้าวหน้าของงาน แต่ โฮปเวลล์ก็ยังไม่สามารถก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 เสร็จได้ ต่อมากระทรวงฯ มีหนังสือแจ้งเตือนกรณีงานล่าช้า แต่โฮปเวลล์ก็ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ โดยอ้างอุปสรรคของพื้นที่ก่อสร้างต่างๆ แต่กระทรวงฯเห็นว่าไม่ตรงข้อเท็จจริง

ต่อมากระทรวงฯ เสนอ ครม.ว่าควร บอกเลิกสัญญาสัมปทาน เนื่องจากโครงการนี้ได้ใช้เวลาดำเนินการมา 6 ปี แต่ผลการดำเนินการก่อสร้างต่ำกว่าเป้าหมายทีกำหนดในแผนมาก คาดหมายได้ว่าโฮปเวลล์ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ ซึ่งจะมีผลจะกระทบกับแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรของ กทม. รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผนพัฒนากิจการการรถไฟในอนาคต เมื่อ 23 ธ.ค.2540 ครม. จึงเห็นชอบการบอกเลิกสัญญา

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2541 กระทรวงฯ ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และห้ามมิให้โฮปเวลล์เข้าไปเกี่ยวข้องกับพิ้นที่โครงการ โฮปเวลล์จึงมีหนังสือวันที่ 30 ม.ค.41 และ 2 ก.พ. 2541 แจ้งกระทรวงฯ ว่าการบอกเลิกสัญญาต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญา กระทรวงฯจึงผิดสัญญาและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โฮปเวลล์ 25 ก.พ.2541 กระทรวงฯ มีหนังสือแจ้งยืนยันการบอกเลิกสัญญาและแจ้งว่า การบอกเลิกตามกระบวนการของกฎหมายแล้ว สัญญาเป็นอันสิ้นสุดลง จึงไม่ต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการและโฮปเวลล์ไม่มีสิทธิครอบครองพิ้นที่สัมปทานและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใดๆ และให้ขนย้ายเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆแแกจากพื้นที่ก่อสร้างภายใน 15 วันนับจากได้หนังสือฉบับนี้  ต่อมาโฮปเวลล์ก็มีหนังสือโต้แย้งว่าการบอกเลิกสัญญาต้องเป็นไปตามสัญญา และยืนยันสิทธิเรียกค่าเสียหาย กระทรวงฯ จึงมีหนังสือยืนยันว่า การบอกเลิกสัญญานี้เป็นการบอกเลิกตาม ปพพ. มาตรา 388 มิใช่กรณีการเวนคืนระบบหรือพื้นที่สัมปทาน ตามสัญญา แต่กระทรวงฯ เห็นว่าโฮปเวลล์ ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ จึงเป็นการบอกเลิกที่ชอบแล้ว  23 มิ.ย.43 โฮปเวลล์มีหนังสือแจ้งว่าการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นไปตามขั้นตอนในสัญญา ทำให้ได้รับควสมเสียหายให้กระทรวงฯ ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาทภายใน 30 วัน ต่อมาโฮปเวลล์มีหนังสือขอให้เปิดการเจรจาเพื่อยุติปัญหาดังกล่าว หากกระทรวงฯ ไม่ตกลง ภายใน 60 วัน โฮปเวลล์จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ กระทรวงฯ และการรถไฟ ไม่ได้เจรจาภายใน 60 วัน โฮปเวลล์จึงเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างว่าการบอกเลิกสัญญาของ กระทรวงฯ และการรถไฟ ทำให้ โฮปเวลล์ ได้รับความเสียหาย เรียกค่าเสียหาย เป็นทุนทรัพย์จำนวนประมาณ สองหมื่นแปดพันกว่าล้านบาท ต่อมากระทรวงฯและการรถไฟก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่ออนุญาโตตุลาการ

อนุญาโตตุลาการกำหนดประเด็นพิพาทแยกสำนวนโดย
1. ข้อพิพาทที่โฮปเวลล์ยื่น กำหนดประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดเป็น 4 ประเด็น คือ
1.1 โฮปเวลล์เสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่
1.2 สิทธิเสนอข้อเรียกร้องให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการของโฮปเวลล์พ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่
1.3 สัมปทานเลิกกันโดยปริยายหรือโดยข้อกฎหมาย
1.4 คู่สัญญาจะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ปพพ. ม. 391 หรือไม่

2. ข้อเรียกร้องแย้งที่กระทรวงฯ และการรถไฟยื่นกำหนดประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดเป็น 3 ประเด็น คือ
2.1 โฮปเวลล์ผิดสัญญาหรือไม่
2.2 กระทรวงฯและการรถไฟ บอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่
2.3 กระทรวงฯและการรถไฟ เสียหายหรือไม่ เพียงใด

อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงฯ และการรถไฟ ร่วมกันหรือแทนกันคืนค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน และใช้เงินค่าก่อสร้างโครงการ กระทรวงฯ และการรถไฟจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่วนโฮปเวลล์ก็ยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ โฮปเวลล์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้อาจแบ่งประเด็นได้เป็น

1. โฮปเวลล์ยื่นข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่อาจยื่นข้อเรียกร้องต่ออนุญาโตตุลาการ หรือไม่ ??

ศาลวินิจฉัยเป็นแนวทางว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โฮปเวลล์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2562 จึงถือว่าโฮปเวลล์รู้ว่าข้อพิพาทเกิดขึ้นและเป็นวันที่โฮปเวลล์อาจยื่นข้อเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้  ซึ่งการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาหรืออายุความในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้ จะมีก็แต่เพียง มาตรา 9 พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ที่กำหนดให้คู่พิพาทอาจตกลงกันกำหนดระยะเวลาหรืออายุความให้สั้นกว่าอายุความฟ้องร้องคดีต่อศาลก็ได้ และให้สิทธิคู่พิพาทขอขยายเวลาออกไปเท่าที่ไม่เกินไปกว่าอายุความการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ ดังนั้นระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจึงมีหลักว่า “ข้อพิพาทใดที่อาจเสนอเป็นคดีต่อศาลได้ภายในอายุความการฟ้องคดี ข้อพิพาทนั้นก็สามารถเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้ภายในกำหนดระยะเวลาเช่นเดียวกัน” เมื่อคดีนี้ สัญญาระหว่างคู่พิพาทไม่ได้กำหนดระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจึงกระทำได้ภายในกำหนดอายุความฟ้องร้องต่อศาล กล่าวคือภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

ดังนั้นเมื่อโฮปเวลล์ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการภายใน 5 ปี นับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา ข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่ออนุญาโตตุลาการโดยชอบแล้ว

2. ประเด็นเนื้อหาแห่งคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่??

สำหรับข้อพิพาทที่โฮปเวลล์ยื่นศาลวินิจฉัยเป็นแนวทางว่า 

2.1 โฮปเวลล์เสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ ว่า ตามสัญญาสัมปทานมีข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทไว้ว่า เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น คู่สัญญาต้องพยายามประนีประนอมระงับข้อพิพาทนั้นก่อนถ้าหากภายใน 60 วัน หรือในข่วงเวลาที่ขยายออกใดๆตามที่ตกลงกันคู่สัญญาไม่สามารถประนีประนอมได้ ให้นำข้อพิพาทนั้นเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด เมื่อข้อเท็จจริง โฮปเวลล์ได้มีหนังสือขอให้ กระทรวงฯและการรถไฟ ประนีประนอมให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่กระทรวงฯและการถไฟก็เพิกเฉยไม่พยายามเจรจา อนุญาโตตุลาการจึงมีคำขี้ขาดว่า ที่กระทรวงฯ และการรถไฟ อ้างข้อกกฎหมายว่าการใช้สิทธิของโฮปเวลล์ไม่ถูกต้องตาม ปพพ. ม. 55 ข้ออ้างดังกล่าวเป็นกรณีที่คู่พิพาทจะใช้สิทธิต่อศาลเมื่อถูกโต้แย้งสิทธิ แต่ตามกรณนี้เป็นเรื่องที่โฮปเวลล์ใช้สิทธิตามสัญญาที่ตกลงกัน การใช้สิทธิของโฮปเวลล์จึงไม่ถูกจำกัดโดยบทกฎหมายดังกล่าว ศาลจึงวินิจฉัยว่าจากข้อเท็จจริงที่อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยไปตามเงื่อนไขข้อกำหนดของสัญญา โฮปเวลล์จึงมีสิทธิเสนอข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ คำชี้ขาดในส่วนนี้จึงไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีแต่อย่างใด

2.2 สิทธิเสนอให้ระงับข้อพิพาทโดนวิธีอนุญาโตตุลาการของโฮปเวลล์พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่??

อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระงับข้อพิพาทตามสัญญาเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม.11 มีผลผูกพันระหว่างคู่พิพาทจึงเป็นสัญญาแพ่งชนิดหนึ่ง สัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาสัมปทานจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ปพพ. ม. 193/30 ข้อพิพาทที่ว่า โฮปเวลล์เสนอต่ออนุญาโตตุลาการยังไม่ครบ 10 ปี จึงยังคงใช้สิทธิเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการได้ ศาลปกครองเห็นว่า ไม่อาจนำระยะเวลาตาม ปพพ. ม. 193/30 มาใช้ได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายแต่ละฉบับ แต่เมื่อคำชี้ขาดให้ผลตรงกับที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วในประเด็นแรก ดังนั้นคำชี้ขาดในประเด็นนี้จึงไม่เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีแต่อย่างใด

2.3 สัญญาสัมปทานเลิกกันโดนปริยายหรือโดยข้อกฎหมายหรือไม่  กระทรวงฯและการรถไฟ กับ โฮปเวลล์จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ปพพ. ม. 391 หรือไม่ เพียงใด

อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า การบอกเลิกสัญญาของกระทรวงฯ และการรถไฟ จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในสัญญา โดยต้องบอกเลิกให้โฮปเวลล์แก้ไข หากโฮปเวลล์ไม่เห็นด้วยก็ต้องนำข้อพิพาทนั้นเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ แต่ข้อเท็จจริง กระทรวงฯและการรถไฟ บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์โดยไม่ได้ดำเนินการตามที่สัญญากำหนด จึงไม่มีผลให้สัมปทานเลิกกัน แต่ข้อเท็จจริงต่อมาปรากฎว่า เมื่อกระทรวงฯและการรถไฟมีหนังสือยืนยันจตนาบอกเลิกสัญญาหลายครั้ง และห้ามให้ผู้คัดค้านเข้าไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่โครงการ และให้ขนย้ายเครื่องมือเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆออกไปจากพื้นที่ภายใน 15 วัน โฮปเวลล์ก็ยินยอมทำตาม จากพฤติการณ์ดังล่าว อนุญาโตตุลาการเห็นว่า กระทรวงฯและการรถไฟมีเจตนาเลิกสัญญาอันถือเป็นคำเสนอเลิกสัญญากับโฮปเวลล์และการที่โฮปเวลล์ยิมยอมปฏิบัติตามเป็นการแสดงเจตนาสนองการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นสัญญาดังกล่าวย่อมเลิกกันโดยปริยาย ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า สัญญาทางปกครองนั้น รัฐในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดทำบริการสาธารณะย่อมมีอำนาจในการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวให้สัญญาเป็นอันเลิกกัน เมื่อมีเหตุเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวมหรือบริการสาธารณะ โดยมีผลให้สัญญาเลิกกันได้โดยไม่ต้องเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อตัดสินให้สัญญาเป็นอันเลิกกัน ทั้งนี้ อำนาจการตัดสินใจบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว มีผลเฉพาะให้สัญญาเป็นอันเลิกกันเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า การเลิกสัญญานั้นชอบด้วยกฎหมาย หรือฝ่ายปกครองไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ซึ่งความรับผิดชอบของคู่สัญญามีอยู่เพียงใด ก็ต้องพิจารณาต่อไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งคดีนี้ สัญญาพิพาทมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน ฉะนั้น การแจ้งบออกเลิกสัญญาโดยฝ่ายเดียวจึงยังไม่มีผลทางกฎหมายให้สัญญาเลิกกันในทันที แต่ต่อมาเมื่อกระทรวงฯมีหนังสือยืนยันการเลิกสัญญาและโฮปเวลล์ก็ยินยอมออกจากพื้นที่และไม่ดำเนินการใดๆในพื้นที่โครงการ ก็เป็นการแสดงออกซึ่งการตกลงให้สัญญาเป็นอันเลิกกัน สัญญาจึงเป็นอันเลิกกัน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน จึงไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ส่วนการกลับคืนสู่ฐานะเดิม อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยว่า เมื่อโฮปเวลล์ได้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทานให้แก่กระทรวงฯและการรถไฟแล้ว และได้มอบหนังสือค้ำประกันธนาคารเป็นหลักประกัน และได้ดำเนินการก่อสร้างรวมทั้งปฏิบัติตามสัญญา เสียค่าใช้จ่ายไปจำนวนหนึ่งนั้น เมื่อสัญญาเลิกกัน สิ่งก่อสร้างที่โฮปเวลล์ดำเนินการมานั้นถือเป็นการงานที่ได้ทำให้กระทรวงฯและการรถไฟ ดังนั้น โฮปเวลล์จึงมีสิทธิได้รับการชดใช้คืนด้วยการใช้เงินตามค่าของงานที่ได้ก่อสร้าง แต่เมื่อกระทรวง ฯและการรถไฟ โต้แย้งว่า สิ่งก่อสร้างนั้น กระทรวงฯและการรถไฟไม่สามารถใช้งานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ประสงค์จะทำโครงการต่อ ประกอบกับขณะนี้โครงการก็เก่ามากแล้ว คณะอนุญาโตตุลาการจึงกำหนดลดจำนวนเงินค่าก่อสร้างให้กระทรวงฯและการรถไฟชดใช้คืนแก่โฮปเวลล์ สุดท้ายแล้ว คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้ กระทรวงฯ และการรถไฟ ชดใช้เงินตามเหตุผลข้างต้นให้แก่โฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยในแนวทางที่ว่า เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายกลับสู่ฐานะเดิมเทียบเคียง ปพพ. ม. 391 พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่กระทรวงฯและการรถไฟอ้างเป็นคำร้องให้เพิกถอนคำชี้ขาด ได้แก่

(1) ประเด็นรับมอบพื้นที่และบ่ายเบี่ยงการรับมอบพื้นที่ ของโฮปเวลล์ นั้น ตามสัญญากำหนดให้กระทรวงฯและการรถไฟเป็นผู้ขับไล่ผู้บุกรุก หากผู้บุกรุกออกไปไม่หมด โฮปเวลล์จะดำเนินการเอง นอกจากนั้นตามสัญญา กระทรวงฯและการรถไฟตกลงจะให้การสนับสนุนที่จำเป็นแก่โฮปเวลล์ ดังนั้นกระทรวงฯและการรถไฟจึงมีหน้าที่กำจัดอุปสรรคใดๆ ในพื้นที่สัมปทาน ซึ่งรวมถึงการขับไล่ผู้บุกรุกซึ่งกระทรวงฯและการรถไฟมีสิทธิตามกฎหมายและมีอำนาจดำเนินการ ดังนั้น การที่โฮปเวลล์ไม่ยอมรับมอบพื้นที่จึงไม่ใช่ความผิดหรือความไม่พร้อมของโฮปเวลล์

(2) ประเด็นแบบในการก่อสร้าง โฮปเวลล์อ้างว่าได้ออกแบบและส่งมอบแบบให้กระทรวงฯและการรถไฟพิจารณาตามสัญญาแล้ว แต่กระทรวงฯละการรถไฟ เห็นว่า แบบไม่มีรายละเอียดไม่สามารถดำเนินการได้และบางส่วนไม่สอดคล้องกับ Concept Design กระทรวงฯและการรถไฟจึงไม่ให้ความเห็นชอบแบบ คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาตามสัญญาแล้วการส่งมอบแบบบางส่วนสามารถทำได้ เมื่อพิเคราะห์จากหลักฐานแล้วเห็นว่า โฮปเวลล์ได้ส่งมอบแบบให้แก่กระทรวงฯและการรถไฟ ถูกต้องตามสัญญาแล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่โฮปเวลล์ไม่พร้อมที่ปฏิบัติตามสัญญาเพราะโครงการไม่มีแบบก่อสร้างก่อน

(3) ประเด็นการออกแบบรางรถไฟ กระทรวงฯและการรถไฟ อ้างว่าโฮปเวลล์ออกแบบรางรถไฟไม่ครบ 3 ราง คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ตามเอกสารแนบท้ายสัญญาไม่ได้มีรายละเอียดระบุให้มีราง 3 ราง และเห็นว่า โฮปเวลล์ได้ออกแบบก่อสร้างเส้นทางสัมปทานถูกต้องตามสัญญาและหลักวิศวกรรมแล้ว

(4) ประเด็นการออกแบบชานชาลาไม่พอ คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ตามสัญญากำหนดให้โฮปเวลล์ทำการก่อสร้างชานชาลาจำนวน 1 ชานชาลาหรือมากว่า เพื่อรองรับระบรถไฟตามสถานี ซึ่งโฮปเวลล์ได้ออกแบบให้มีชานชาลาถึงจำนวน 20 ชานชาลาต่อสถานี โดยใช้หลักเกณฑ์การออกแบบให้ชานชาลา 1 ชานชาลาต่อรางรถไฟ 1 ราง ดังนั้นการออกแบบชานชาลาและสถานีรถไฟของโฮปเวลล์จึงเพียพอและถูกต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาแล้ว

(5) ประเด็นการออกแบบชานชาลาไม่ครบจำนวน 3 ชานชาลาตามที่กำหนดในสัญญา คณะอนุญาโตตุลากาชี้ขาดว่า ตามสัญญาโฮปเวลล์ต้องก่อสร้างชานชาลา 1 ชานชาลา หรือมากกว่า เพื่อรองรับระบบรถไฟ ซึ่งระบบรถไฟในเส้นสายเหนือจะมีจำนวน 3 ราง รางซ้ายรางขวาสำหรับรางโดยสาร และรางกลางสำหรับรถไฟบรรทุกสินค้าซึ่งไม่จำเป็นต้องมีทุกสถานี คงมีเฉพาะสถานีที่มีการรับ-ส่งสินค้า และเมื่อบริเวณสถานนีดังกล่าวไม่มีความจำเป็นต้องรับ-ส่งสินค้าและมีพื้นที่ก่อสร้างจำกัด โฮปเวลล์จึงไม่สามารถออกแบบและก่อสร้างชานชาลาให้ครบ 3 ชานชาลาได้ จึงไม่ปฏิบัติผิดสัญญา

(6) ประเด็นกำหนดขนาดและความกว้างของไหล่ทาง กระทรวงฯและการรถไฟอ้างว่าโฮปเวลล์ไม่ออกแบบตามมาตรฐาน AASHTO คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ตามสัญญากำหนดมาตรฐานการออกแบบท้ายนี้เพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ก่อสร้างของ กทม. โดยมิได้กำหนดให้ใช้มาตรฐานใดโดยเฉพาะและมาตรฐาน AASHTO ตามสัญญาก็เป็นเพียงหนึ่งในมาตรฐานหลายมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้อย่างกว่างๆสำหรับผู้ใช้เส้นทางจราจรเท่านั้น โฮปเวลล์จึงไม่ผิดสัญญา

(7) ประเด็นการออกแบบเส้นทางบริเวณ NASA Night Club กระทรวงฯและการรถไฟ อ้างว่า โฮปเวลล์ออกแบบไม่ตรงตามแนวเส้นทางตามแบบที่ต้องเป็นเส้นโค้ง คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า เหตุที่ไม่สามารถออกแบบได้เนื่องจากกระทรวงฯและการรถไฟได้ให้ผู้อื่นเข้าใช้ประโยชน์โฮปเวลล์ไม่สามารถทำตามแบบได้ จึงไม่ใช่ความผิดของโฮปเวลล์

(8) ประเด็นการยกเลิกสถานีเดิมและย้ายไปก่อสร้างที่อื่น คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า การย้ายสถานีเป็นความประสงค์ของกระทรวงฯและการรถไฟเพื่อให้การก่อสร้างตามสัญญาสัมปทานสมบูรณ์และใช้ประโยชน์ได้จริง จึงไม่ใช่ความผิดของโฮปเวลล์

(9) ประเด็นกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานก่อสร้างตามสัญญา โฮปเวลล์อ้างว่า ระยะเวลาก่อสร้างต้องขยายออกไปเท่ากับระยะเวลาล่าช้าที่เกิดเหตุต่างๆ กระทรวงฯและการรถไฟเห็นว่า ความล่าช้าเกิดจากโฮปเวลล์เอง คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า การที่กระทรวงฯและการรถไฟ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้ถูกต้องในเรื่องต่างๆ ทำให้โฮปเวลล์ไม่สามารถดำเนินการออกแบบและก่อสร้างได้ตามแผนเป็นความผิดของกระทรวง ฯ และการรถไฟ รวมทั้งเกิดจากโฮปเวลล์ไม่สามารถเข้าครอบครองพื้นที่ได้ ระยะเวลาจึงควรขยายออกไปเท่ากับความล่าช้าที่เกิดขึ้น โฮปเวลล์ไม่ได้ผิดสัญญา

เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเหตุเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วเห็นได้ว่า ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมายและข้อสัญญาของอนุญาโตตุลาการ โดยคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการประเด็นดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไรและคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีความรับผิดต่อกันหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ปรากฎเหตุที่กฎหมายให้อำนาจศาลในการเพิกถอนคำชี้ขาดได้

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นให้ยกคำร้องของกระทรวงฯและการรถไฟ และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

บทความที่เกี่ยวข้อง
ปมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับคดีโฮปเวลล์
ข่าวใหญ่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับคดีโฮปเวลล์ อันเป็นความสัมพันธ์กันระหว่างกฎหมายปกครองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ
มหากาพย์คดีโฮปเวลล์  ตอน คำสั่งยกคำของดหรือทุเลาการบังคับคดี
คำสั่งยกคำร้องของศาลปกครองกลางคดีโฮปเวลล์ (มหากาพย์ โฮปเวลล์  ตอน คำสั่งยกคำของดหรือทุเลาการบังคับคดี) ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
30 ปี คดีมหากาพย์โฮปเวลล์ (เรื่องนี้ถึงไหนแล้ว)
30 ปี คดีมหากาพย์โฮปเวลล์ (เรื่องนี้ถึงไหนแล้ว) (ภาคต่อ คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 241-243/2563) ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงคำสั่งศาลปกครอง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy