share

ปมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับคดีโฮปเวลล์

Last updated: 22 Jul 2023
126 Views
ปมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับคดีโฮปเวลล์

ศาล รธน. กับคดีโฮปเวลล์

โฮปเวลล์ยื่นข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่อาจยื่นข้อเรียกร้องต่ออนุญาโตตุลาการ หรือไม่ ??

วันนี้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่น่าสนใจเป็นประเด็นร้อนเกี่ยวกับคดีโฮปเวลล์ขึ้นมา ซึ่งก่อนจะไปถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อยากชี้ให้เห็นถึงประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาก่อนดังนี้

ในคดีหลักของโฮปเวลล์ที่ศาลปกครองสูงสุดให้ฝ่ายรัฐต้องชำระเงินให้โฮปเวลล์ เป็นจำนวนเงินพร้อมดอกเบี้ย ประมาณ 25,000 ล้านบาทนั้น ศาลวินิจฉัยเป็นแนวทางว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โฮปเวลล์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2541 จึงถือว่าโฮปเวลล์รู้ว่าข้อพิพาทเกิดขึ้นและเป็นวันที่โฮปเวลล์อาจยื่นข้อเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้

ซึ่งการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาหรืออายุความในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้ จะมีก็แต่เพียง มาตรา 9 พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ที่กำหนดให้คู่พิพาทอาจตกลงกันกำหนดระยะเวลาหรืออายุความให้สั้นกว่าอายุความฟ้องร้องคดีต่อศาลก็ได้ และให้สิทธิคู่พิพาทขอขยายเวลาออกไปเท่าที่ไม่เกินไปกว่าอายุความการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ ดังนั้นระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจึงมีหลักว่า “ข้อพิพาทใดที่อาจเสนอเป็นคดีต่อศาลได้ภายในอายุความการฟ้องคดี ข้อพิพาทนั้นก็สามารถเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้ภายในกำหนดระยะเวลาเช่นเดียวกัน”

เมื่อคดีนี้ สัญญาระหว่างคู่พิพาทไม่ได้กำหนดระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจึงกระทำได้ภายในกำหนดอายุความฟ้องร้องต่อศาล กล่าวคือภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

"เมื่อคดีนี้สัญญาลงวันที่ 9 พ.ย. 2533 จึงเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนที่ศาลปกครองเปิดทำการ การนับอายุความการฟ้องตดีต่อศาลปกครองจึงเริ่มนับแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค.2544 และต้องนับอายุความตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับในขณะที่ทำการพิจารณาคดี ดังนั้นเมื่อโฮปเวลล์ล์ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ วันที่ 24 พ.ย. 2547 ซึ่งเป็นการยื่นภายใน 5 ปี นับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา ข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่ออนุญาโตตุลาการโดยชอบแล้ว"

ประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่า การฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ให้ยื่นฟ้องภายในห้าปี นับแต่ “วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี (ซึ่งหากนับอายุความเช่นนี้คดีโฮปเวลล์อาจจะขาดอายุความแล้วได้)

แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องระยะเวลานี้ ศาลปกครองเคยได้มี มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2545 กำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 (จึงทำให้ในคดีหลักที่พิพาทกับโฮปเวลล์ยังไม่ขาดอายุความ) ซึ่งมติที่ประชุมใหญ่นี้มีข้อความผิดไปจากพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ดังกล่าว

ปมร้องศาลรัฐธรรมนูญ

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 6 และ มาตรา 44 กำหนดหลักการว่า การดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับการฟ้อง (รวมถึงกำหนดระยะเวลาฟ้องคดี) นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครอง สูงสุด ซึ่งบรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุดเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้ บังคับได้ โดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับการฟ้อง (รวมถึงกำหนดระยะเวลาฟ้องคดี) ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ออกระเบียบดังกล่าวด้วย

กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโฮปเวลล์ ได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2545 ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้

ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วเห็นว่ามติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถใช้บังคับได้ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้นจึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวสามารถใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองเป็นการออกระเบียบ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 44 แต่ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 197 วรรคสี่

ส่งท้าย

ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้จะทำให้หลักการนับอายุความที่ศาลปกครองสูงสุดใช้มานั้นบังคับใช้ไม่ได้ ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่าจะส่งผลอย่างไรต่อคดีโฮปเวลล์ เพราะข้ออ้างหลักในการดำเนินกระบวนอนุญาโตตุลาการและคดีในศาลปกครองอันหนึ่งก็คือประเด็นเรื่องอายุความนั่นเอง และนอกจากนั้นคำวินิจฉัยนี้อาจส่งผลต่อคดีพิพาททางปกครองเรื่องอื่น ๆ ที่ตัดสินโดยนับระยะเวลาตาม มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวหรือไม่อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง
มหากาพย์คดีโฮปเวลล์  ตอน คำสั่งยกคำของดหรือทุเลาการบังคับคดี
คำสั่งยกคำร้องของศาลปกครองกลางคดีโฮปเวลล์ (มหากาพย์ โฮปเวลล์  ตอน คำสั่งยกคำของดหรือทุเลาการบังคับคดี) ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
30 ปี คดีมหากาพย์โฮปเวลล์ (เรื่องนี้ถึงไหนแล้ว)
30 ปี คดีมหากาพย์โฮปเวลล์ (เรื่องนี้ถึงไหนแล้ว) (ภาคต่อ คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 241-243/2563) ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงคำสั่งศาลปกครอง
มหากาพย์โฮปเวลล์ คดีประวัติศาสตร์งานก่อสร้าง
มหากาพย์โฮปเวลล์ ระหว่าง ผู้ร้องที่ 1 คือ กระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 2 คือ การรถไฟ ผู้คัดค้านคือ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy