แชร์

VO คืออะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร? ใครเป็นคนบริหาร?

อัพเดทล่าสุด: 20 ต.ค. 2024
233 ผู้เข้าชม
VO คืออะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร? ใครเป็นคนบริหาร?

วันนี้จะพูดถึงว่า VO คืออะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร ใครเป็นคนบริหาร???

เรื่องนี้แฟนเพจไม่ได้ถามมา แต่นึกขึ้นได้ตอนไปบรรยายในโอกาสต่างๆ ว่ามีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะ เข้าใจผิดกันมาก ถ้าทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และสัญญา จะลดปัญหาความขัดแย้งทั้งระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง และระหว่างผู้บริหารงานก่อสร้างกับผู้ว่าจ้างหรือกับผู้รับเหมา ไปได้เยอะ

คำว่า VO เป็นคำย่อของคำว่า Variation Order ซึ่งได้แก่คำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน เปลี่ยนแปลงไปจากขอบเขตของงานตามแบบ (Drawings) และรายการประกอบแบบ (Specification) บางคนเรียกว่า Change Order

ความจริงขอบเขตของงานตามสัญญาถือเป็นสาระสำคัญของสัญญา การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญาต้องแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา งานราชการจะเพิ่มลด scope ของงาน หรือขยายเวลา ต้องแก้ไขสัญญา บางทีงานที่แก้ไขทำเสร็จเป็นปีไปแล้ว สัญญายังไม่ได้แก้ไข

ส่วนภาคเอกชนอะไรที่เป็นอุปสรรคเป็นปัญหา เขาก็แก้ ถ้าจะต้องแก้สัญญา ต้องไปหาทนาย ต้องเสียค่าทนาย ต้องใช้เวลา ธุรกิจรอไม่ได้ สมาพันธ์วิศวกรที่ปรึกษานานาชาติ หรือ FIDIC รวมทั้งองค์กรนานาชาติอื่นๆ เขาก็แก้สัญญามาตรฐาน กำหนดว่าคู่สัญญาตกลงกันว่าการเปลี่ยนแปลงขอบเขตของงาน ระยะเวลาก่อสร้าง และจำนวนเงินค่าจ้างเพิ่มลด ทำเป็นคำสั่งก็ใช้ได้ ไม่ต้องแก้ไขสัญญาไม่ทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้

คนที่จะเปลี่ยนแปลงงานได้ก็ต้องเป็นผู้ว่าจ้าง ไม่ใช่ผู้รับจ้าง เพราะผู้ว่าจ้างเป็นคนต้องการงาน เป็นคนจ่ายตังค์ แต่ผู้ว่าจ้างมีตัวแทนที่เชี่ยวชาญงานก่อสร้างอยู่แล้วคือ Engineer หรือวิศวกร หรือ ผู้บริหารงานก่อสร้าง ก็เลยให้อำนาจนี้กับบุคคลผู้นี้ แต่บุคคลผู้นี้ไม่มีอำนาจไปแก้ไขเงื่อนไขของสัญญา เช่นจะไปสั่งให้เพิ่มจำนวนเงินในหนังสือค้ำประกันเป็น 2 เท่า หรือ สั่งว่าไม่ต้องวางหนังสือค้ำประกันตามที่สัญญากำหนดให้ต้องวาง ไม่ได้

เมื่อสัญญากำหนดให้วิศวกรเป็นผู้ออกคำสั่ง และไม่ได้กำหนดให้ผู้ว่าจ้างออกคำสั่ง ก็ได้ เท่ากับสัญญาไม่ได้ให้อำนาจผู้ว่าจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลงงานโดยไม่ต้องแก้ไขสัญญา และการบริหารงานที่ดีคนออกคำสั่งควรจะเป็นคนเดียว แต่สัญญาหน่วยงานของรัฐคนสั่งอาจเป็นทั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงานหรือบริษัทที่ปรึกษาที่ผู้ว่าจ้างแต่งตั้ง แล้วยังต้องแก้สัญญาอีก เหมือนเคยได้ยินคนนินทาเปรียบเทียบว่าไฟไหม้โรงงานจนมอดเป็นเถ้าถ่านหมดแล้ว รถดับเพลิงถึงมา

คำสั่งของวิศวกรต้องทำเป็นหนังสือ คำสั่งด้วยวาจาต้องมีหนังสือยืนยันตามมา มิฉะนั้นไม่มีผลใช้บังคับ คือเขาต้องการให้มีหลักฐานเป็นหนังสือไว้

ค่างานเพิ่มลดต้องกำหนดได้ก่อนลงมือทำงาน จะกำหนดตาม BOQ หรือตกลงกัน ตามเงื่อนไขในสัญญาก็ได้ ค่างานที่ทำนี้เอาไปรวมกับค่าจ้างเหมา เบิกได้ในงวดงานถัดไป ไม่ใช่ต้องรอไปจนงวดสุดท้ายเมื่องานทั้งหมดแล้วเสร็จ

ถ้าเงื่อนไขของสัญญาและวิธีปฏิบัติตรงไปตรงมา ให้ความเป็นธรรมกับทั้งสามฝ่าย คือทั้งฝ่ายผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้าง และผู้บริหารงานก่อสร้าง เชื่อได้เลยว่าคดีก่อสร้างขึ้นศาลน้อยลงเยอะ

บทความที่เกี่ยวข้อง
อนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (คดีหงสา)
เกร็ดจากงานสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ ที่จัดโดยสำนักงานศาลยุติธรรม (TAI) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 (คดีหงสา)
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy